วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ความเป็นมาของการรวมกลุ่มอาเซียน

ความเป็นมาของการรวมกลุ่มอาเซียน
1.  ความเป็นมาของการรวมกลุ่มอาเซียน
          การจัดตั้งอาเซียน
         อาเซียนก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2513 อันเป็นผลจากการประชุมที่กรุงเทพฯ โดยสมาชิกก่อตั้งของสมาคมฯมี 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ได้ลงนามในปฏิญญากรุงเทพแสดงเจตนารมณ์ที่จะร่วมกันและจำนวนสมาชิกจะคงอยู่เท่านี้มาอีก 17 ปี ในวันที่ 8 มกราคม 2527 บรูไน ดารุสซาลัมจึงเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกประเทศที่ 6 และจากนั้นเวียดนามได้เข้าเป็นสมาชิกเมื่อ 28 กรกฎาคม 2538 ลาวและพม่าเมื่อ 23 กรกฎาคม 2540 กัมพูชาเมื่อ 30 เมษายน 2542 รวม 10 ประเทศ ปัจจุบันอาเซียนมีประชากรรวม 503 ล้านคน มีดินแดนรวมกัน 4.5 ล้านตารางกิโลเมตร มีผลิตภัณฑ์มวลรวมมูลค่า 737 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีมูลค่าการค้ารวม 720 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
         เมื่อแรกนั้นประเทศสมาชิกก่อตั้งแสดงเจตนารมณ์ว่ามีความประสงค์ให้อาเซียนเป็นเวทีความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันด้านเศรษฐกิจ แต่ในข้อเท็จจริงแล้วอาเซียนมีการดำเนินการเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจน้อยมากจนกระทั่ง 10 ปีให้หลังคือในปี 2520จึงได้เริ่มมีการดำเนินการจริงจังตามเจตนารมณ์ของการก่อตั้งอาเซียนโดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้ประชุมกันที่กรุงมะนิลา และบรรลุข้อตกลงเป็นครั้งแรกที่จะเจรจาลดภาษีศุลกากรเป็นรายสินค้า ซึ่งแม้ว่าจะดูเป็นการเคลื่อนไหวที่ช้ามากสำหรับการที่จะเปิดประเทศรองรับการค้าเสรี แต่ข้อตกลงดังกล่าวเป็นผลมาจากการประนีประนอมระหว่างประเทศที่มีความก้าวหน้าทางด้านอุตสาหกรรมกับประเทศที่อุตสาหกรรมยังล้าหลัง ซึ่งฝ่ายหลังนี้อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นสมาชิกที่มีประชากร 120 ล้านคนตกอยู่ในฐานะดังกล่าวด้วย แต่พํฒนาการของอาเซียนดังกล่าวก็ยังไม่ถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่มีนัยสำคัญ จนกระทั่งเข้าสู่ศควรรษใหม่ ในเดือนตุลาคม 2546 ในการประชุมระดับผู้นำอาเซียนที่เมืองบาหลีประเทศอินโดนีเซียได้มีการประกาศเจตนารมณ์ที่จะจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจ ความมั่นคง สังคมและวัฒนธรรมอาเซียนขึ้น ซึ่งได้นับการสนับสนุนจากประชาคมโลกทั่วไปโดยเฉพาะสหภาพยุโรป ซึ่งมีประสบการณ์ในการบูรณาการประเทศต่างๆเข้าด้วยกันมาก่อน
     2. สมาชิกของกลุ่มอาเซียน
         สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อังกฤษ: Association of South East Asian Nations) หรือ อาเซียน (ASEAN) เป็นองค์การทางภูมิศาสตร์การเมืองและองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ ได้แก่ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน ลาว กัมพูชา เวียดนาม และพม่า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือกันในการเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม การพัฒนาวัฒนธรรมในกลุ่มประเทศสมาชิก และการธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงในพื้นที่และเป็นการเปิดโอกาสให้คลายข้อพิพาทระหว่างประเทศสมาชิกอย่างสันติ
         3. วัตถุประสงค์ของอาเซียน (ASEAN )
             จากสนธิสัญญาความสามัคคีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้มีการสรุปแนวทางของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้จำนวนหกข้อ ดังนี้
             1. ให้ความเคารพแก่เอกราช อำนาจอธิปไตย ความเท่าเทียม บูรณภาพแห่งดินแดนและเอกลักษณ์ของชาติสมาชิกทั้งหมด
             2. รัฐสมาชิกแต่ละรัฐมีสิทธิที่จะปลอดจากการแทรกแซงจากภายนอก การรุกรานดินแดนและการบังคับขู่เข็ญ
             3. จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของรัฐสมาชิกอื่น ๆ
             4. ยอมรับในความแตกต่างระหว่างกัน หรือแก้ปัญหาระหว่างกันอย่างสันติ
             5. ประณามหรือไม่ยอมรับการคุกคามหรือการใช้กำลัง
             6. ให้ความร่วมมือระหว่างกันอย่างมีประสิทธิภาพ
     4 . ปฏิญญาอาเซียน (The ASEAN Declaration) ได้ระบุว่า
         เป้าหมายและจุดประสงค์ของอาเซียน 
          1) เร่งรัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางสังคมและการพัฒนาวัฒนธรรมในภูมิภาค
          2) ส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค โดยการเคารพหลักความยุติธรรมและ หลักนิติธรรมในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาค ตลอดจนยึดมั่นในหลักการแห่งกฎบัตรสหประชาชาติ  

     5. "กฎบัตรอาเซียน" แยกตามเสาหลักที่สำคัญทั้ง 3 เสา อาจสรุปให้เห็นเป็นสังเขป ดังนี้
         1. เสาหลักด้านการเมืองและความมั่นคงของภูมิภาคอาเซียน เมื่อเป็นประชาคมอาเซียนแล้ว ได้แก่ สนับสนุนส่งเสริม สันติภาพ ความมั่นคง การปกครองแบบประชาธิปไตย การปกครองแบบธรรมาภิบาล การส่งเสริมให้บรรลุความเจริญร่วมกันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ประชาคมเป็นภูมิภาคที่เปิดกว้าง มีพลวัตร และยืดหยุ่นได้ในการตั้งรับภาวะผันผวนของเศรษฐกิจ มีหลักประกันที่จะทำให้เกิดสันติสุขในอาเซียน
         2. เสาหลักทางด้านเศรษฐกิจ มีการเน้นมุ่งพัฒนาให้เป็นตลาดร่วม (Single Market) และเป็นฐานการผลิตอันเดียวกัน (Single Production Base) ซึ่งจะต้องมีการไหลเวียนของสินค้า บริการ การลงทุนและแรงงานฝีมือทั่วทั้งภูมิภาคของประชาคมอาเซียนมีเงินทุนไหลเวียนโดยเสรี และมีสถานะการพัฒนาทางเศรษฐกิจในหมู่สมาชิกประชาคมที่เท่าเทียมกันรวมทั้งเสริมสร้างเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตอย่างมีเสถียรภาพด้านการเงิน การประสานในด้านนโยบายเศรษฐกิจระหว่างสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ มีกฎระเบียบที่ดีด้านการเงิน ทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขันทางการค้า และการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งประชาคมโดยกำหนดจะให้เร่งพัฒนาพร้อมเป็น "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" ให้ได้เร็วขึ้นจากกำหนดเดิมในปี2563 มาเป็นในปี 2558 แทน หรือเร็วขึ้นจากเดิมอีก 5 ปี
         3. เสาหลักทางสังคมและวัฒนธรรมของประชาคมอาเซียน จะพุ่งเป้าไปที่การทำให้เห็นความสำคัญของประชากรในอาเซียน และเป็นสัมพันธภาพระหว่างประชากรของชาติหนึ่งไปสู่ประชากรของอีกชาติหนึ่ง รัฐสภาของ 10 ประเทศ จะประสานร่วมมือกันในกิจกรรมต่างๆ สมาชิกของประชาสังคมของสมาชิกจะไปมาหาสู่กันแลกเปลี่ยนใกล้ชิดระหว่างบุคลากรด้านการศึกษา สถาบันต่างๆ และภาคธุรกิจภาคเอกชนในประเทศสมาชิก รวมทั้งการปฏิสัมพันธ์ของบุคคลชั้นมันสมอง มืออาชีพ ศิลปิน นักเขียนและสื่อสารมวลชนของทั้ง 10 ประเทศ
      ลักษณะเด่นของกฎบัตรอาเซียนจะมีถ้อยคำที่ให้ตีความได้กว้างขวาง ยืดหยุ่น ทั้งในเชิงเป้าหมายและผลของการดำเนินการ อาเซียนมีวัฒนธรรมการตัดสินใจเช่นนี้ คือมีช่องให้ขยับขยายได้ ตีความได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น